งานลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวง อ.เมือง จ.ตาก (ดูภาพด้านล่าง)
งานประเพณีลอยกระทงของไทย มีประวัติยาวนานเท่าที่มีบันทึกเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี โดยมีแนวความเชื่อว่า การลอยกระทงเป็นการบูชาขอขมาต่อแม่พระคงคา ได้มีการพัฒนากระทงเป็นรูปดอกบัวบาน โดยท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศคนแรกในประวัติศาสตร์การลอยกระทง และกลายเป็นประเพณีสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ในส่วนของประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวงนั้น มีตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตมาว่า มีสามเณรน้อยชอบทำบาป ยิงนกตกปลา ทำร้ายไก่ วัว เต่า และพญานาค ตาย จึงเกิดสำนึกในบาปที่ตัวเองได้ทำ จึงขออธิษฐานให้ได้เกิดมาเป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ต่อมาเกิดมาเป็นไข่ของกาขาวคู่หนึ่ง และฟักออกมาเป็นเด็กทารก 5 คน คือ เณรน้อย ไก่ วัว เต่า และพญานาค กาขาวที่ตายลงจึงได้เข้าฝันลูก ๆ ทั้ง 5 ว่าถ้าระลึกถึงพ่อแม่ก็ให้นำด้ายมาฟั่นเป็น รูปตีนกา แล้วลอยแม่น้ำคงคาไป ต่อมาเด็กทั้ง 5 คนได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ ดังนั้นการลอยฟั่นด้ายไปเปรียบเสมือนเป็นการบูชาพระคุณของบิดามารดา และเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ด้วย
หลังจากนั้นจึงได้มีการพัฒนาวัสดุการทำกระทงสายเป็นกะลามะพร้าวที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เนื่องจากชาวเมืองตากนั้นนิยมรับประทานเมี่ยงเป็นอาหารว่าง ถ้าเหลือก็นำมาจำหน่าย “เมี่ยง” ทำจากมะพร้าวใช้เฉพาะส่วนเนื้อ ถั่วลิสง และใบเมี่ยงเป็นส่วนประกอบหลัก จึงมีกะลาที่เหลือจากการทำเมี่ยงเป็นจำนวนมาก จึงเกิดความคิดนำกะลามะพร้าวมาทำเป็นกระทง โดยขัดทำความสะอาดเลือกเฉพาะด้านที่สมบูรณ์ไม่มีรู มาตกแต่งให้สวยงาม ภายในใส่ฟั่นด้ายรูปตีนกาตามตำนานประเพณีที่สืบต่อกันมา โดยเทียนขี้ผึ้งที่ใช้ยึดฟั่นด้ายนำมาจากเทียนจำนำพรรษาของพระสงฆ์ที่ไม่ได้ใช้หลังจากช่วงออกพรรษาไปแล้ว จึงถือว่าเป็นศิริมงคลสำหรับตนเอง
งานประเพณีกระทงสายไหลประทีปพันดวง เดิมเป็นเพียงการสาธิตการลอยกระทงสายในแม่น้ำปิงเท่านั้น จนปี 2540 ได้มีการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงเกิดเป็นประเพณีการแข่งขันลอยกระทงสายชิงถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กิจกรรมภายในงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวงนั้น เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าที่มีการกิจกรรมการแข่งขันต่าง ๆ ของเด็กนักเรียนจากชุมชมต่าง ๆ มีการจัดแสดงกระทงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ จัดการประกวดกระทงนำ กระทงสาย และกระทงตามจากตัวแทนชุมชนต่าง ๆ ในเมืองตาก และกระทงเหล่านี้จะนำไปแข่งลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวงในช่วงตอนค่ำด้วย
|
ริมแม่น้ำปิงในช่วงเย็นก่อนการแข่งขัน มีการเตรียมสถานที่ให้พร้อม |
|
ขบวนรถพาเหรดนำกระทงสายที่กำลังประดับตกแต่ง |
|
กระทงพระราชทาน (ภาพขวามือ) และการประกวดกระทงนำ กระทงตามและกระทงสายภายในงาน |
|
บรรยากาศยามพระอาทิตย์ตกที่ริมน้ำปิง |
ช่วงค่ำเริ่มจากการขบวนอัญเชิญกระทงพระราชทาน ไปประดิษฐาน ณ เวทีแข่งขันกลางแม่น้ำปิง ตามด้วยขบวนเชิญกระทงสายที่จะเข้าแข่งในวันนั้นจากชุมชนต่าง ๆ เมื่อเข้าประจำการแข่งขันลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวงนั้น จะเริ่มแข่งที่ละชุมชน เริ่มที่ปล่อยกระทงนำอันสวยงาม ตามด้วยกระทงตามที่ทำจากกะลาจุดไฟที่ฟั่นด้ายรูปตีนกาพันใบ และปิดท้ายขบวนกระทงด้วยกระทงปิดท้ายที่มีลักษณะคล้ายกระทงนำ แต่มีขนาดเล็กกว่า ขบวนกระทงสายที่สว่างโดดเด่นไหลยาวต่อเนื่องไปตามลำน้ำปิงอย่างสวยงามตามแนวโค้งของสันทรายใต้น้ำ ดูเป็นเส้นสายธารแห่งความหวังของการดำรงไว้ซึ่งประเพณีและวัฒนธรรมที่ควรภาคภูมิใจ ประกอบความตื่นเต้นของกองเชียร์แต่ละชุมชนที่ลุ้นให้ชุมชนของตัวเองมีขบวนกระทงสายที่ต่อเนื่องและงดงามที่สุด
งานลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวงจัดขึ้นทุกปีในช่วงเทศกาลลอยกระทง ปีนี้จัดในวันที่ 31 ต.ค. – 4 พ.ย. 52 หากใครดูภาพที่ทางทีมงานเราได้เก็บมาฝากแล้วยังไม่จุใจ ต้องการไปชมด้วยตาของตนเองสามารถไปตามวันเวลาที่แจ้งไว้ได้ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ททท.จังหวัดตาก 055-514341-3 หรือ เทศบาลเมืองตาก 055-516555, 055-511678
การเดินทาง จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 พหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ที่ อ.วังน้อย กลับเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 1 อีกครั้งที่จังหวัดนครสวรรค์ เข้าสู่กำแพงเพชร และจังหวัดตาก สถานที่จัดงานอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิง ที่ลานกระทงสาย เชิงสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี อ.เมือง จ.ตาก
|
บรรยากาศความสวยงามยามค่ำคืนในงานลอยกระทงไหลประทีปพันดวง |
|
ขบวนอัญเชิญนำกระทงสายของชุมชนต่าง ๆ ไปยังริมน้ำเพื่อแข่งขัน |
|
บรรยากาศระหว่างการแข่งขันลอยกระทงสาย |
|
กระทงสายลอยเป็นทางเปรียบดังดวงประทีปนำความสว่างสู่ชีวิต |
|
สะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีอันงดงามท่ามกลางแสงไฟยามคำ่คืน |
|
กระทงสายที่ล่องลอยไหลเต็มทั่วลำน้ำปิงดูน่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง |
|
ดอกไม้ไฟในงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง จ.ตาก กระจายเต็มทั่วท้องฟ้า |
|